คนส่วนใหญ่จะรับรู้ว่า “ตะปู” เป็นวัสดุที่ใช้ในงานก่อสร้างเพียงเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงตะปูไม่ได้ถูกจำกัดการใช้งานเฉพาะการก่อสร้างบ้านหรืออาคารเพียงอย่างเดียว หากสังเกตให้ดีจะพบว่า “ตะปู” ถูกนำมาใช้และรายล้อมอยู่รอบ ๆ ตัวเรา เช่น เฟอร์นิเจอร์ (โต๊ะ เก้าอี้) ที่เรากำลังใช้งาน สำหรับผู้ที่ชื่นชอบการซ่อมบ้านหรือต่อเติมบ้านด้วยตนเอง การประดิษฐ์สิ่งของเครื่องใช้ภายในบ้านเอง และงาน DIY “ตะปู” ยังเป็นเครื่องมือช่างอีกประเภทที่ควรมีติดบ้าน
เฮียบฮกออนไลน์ขอเสนอความรู้เบื้องต้นที่เกี่ยวข้องกับตะปูและการเลือกใช้ตะปูให้เหมาะสมกับงาน เพราะตะปูมีหลากหลายหน้าตาตามประเภทและการใช้งาน ซึ่งตะปูแต่ละประเภทจะถูกออกแบบมาสำหรับใช้กับงานเฉพาะ จึงไม่ควรเลือกซื้อหรือใช้ตะปูแบบใดก็ได้สำหรับนำมาใช้งาน
ตะปูมีกี่ประเภทและควรเลือกใช้ให้เหมาะกับงานอย่างไร
ตะปู (Nails) คือ วัสดุหรือเครื่องมือช่างประเภทหนึ่งที่ทำหรือผลิตจากแท่งโลหะ (Metal Rod) หรือก้านโลหะ (Metal Shank) โดยปลายด้านหนึ่งของตะปูจะมีลักษณะเป็นปลายแหลมและอีกด้านจะมีรูปทรงกลมหรืออื่น ๆ ซึ่งในส่วนนี้คือหัวของตะปู จะนำไปใช้ตอกกับไม้หรือวัสดุอื่น ๆ เพื่อยึดวัสดุเหล่านั้นเข้าด้วยกัน (ใช้ค้อนในการตอกที่หัวของตะปู) ถูกออกแบบมาให้มีลักษณะผอมและแหลม (คล้ายกับเข็ม) เพื่อทะลุและทะลวงวัสดุต่าง ๆ ได้แก่ คอนกรีต เหล็ก และไม้ โดยทั่วไปตะปูจะผลิตจากเหล็กกล้าและโลหะประเภท เช่น ทองเหลือง (Brass) อลูมิเนียม (Aluminum) และโลหะประเภทอื่น ๆ ตะปูเป็นวัสดุที่ต้องใช้งานคู่กับค้อนอยู่เสมอ (สำหรับตีหรือตอกเพื่อดันตัวตะปูเข้าสู่ตัวเนื้องานที่ต้องการ) หากต้องการให้ตะปูมีคุณสมบัติแรงบีบมือ (Grip Strength) สำหรับตกแต่ง (Decorative Appearances) หรือทนทานต่อการกัดกร่อน (Corrosion Resistance) เพิ่มเติม สามารถนำไปเคลือบหรือชุบโลหะตามคุณสมบัติที่ต้องการได้ ตะปูมีหลากหลายหน้าตาขึ้นอยู่กับการใช้งาน ประเทศสหรัฐอเมริกาประเทศเดียวผลิตตะปูมากกว่า 300 ประเภทซึ่งส่วนใหญ่เป็นตะปูที่ใช้ในงานก่อสร้างที่อยู่อาศัย โดยเฉลี่ยแล้วบ้านที่สร้างในอเมริกา 1 หลังจะใช้ตะปูประมาณ 20,000 – 30,000 ตัว
ลักษณะทางกายภาพของตะปู (Physical Characteristics of Nails)
เนื่องจากตะปูมีมากมายและหลากหลายหน้าตา จึงต้องพิจารณาลักษณะทางกายภาพของตะปูเสียก่อน ตะปูจะประกอบด้วย 3 ส่วน ได้แก่ ส่วนหัว (สำหรับตอก) ส่วนลำตัว และส่วนปลาย (ปลายแหลม)
หัวตะปู จะมีหลายแบบ เช่น หัวแบน หัวมน และหัวราบ ตะปูหัวราบจะนิยมใช้กันอย่างกว้างขวางเพราะเหมาะกับการทำงานทั่วไปหรืองานไม้ เช่น งานเฟอร์นิเจอร์ จุดเด่นของหัวตะปูแบบราบ คือ หัวตะปูสามารถนำมาทุบให้เล็กลง เมื่อนำมาใช้กับงานไม้ ส่งผลให้ชิ้นงานมีตำหนิไม่มาก
ลำตัวตะปู จะมีทั้งตะปูลำตัวอ้วนและลำตัวผอม จะใช้ตะปูลำตัวแบบใดขึ้นอยู่กับความหนาของชิ้นงาน และขนาดความยาวของตะปูจะใช้เรียกขนาดของตะปู หากต้องการใช้งานตะปูขนาด 1 นิ้วครึ่ง จะหมายถึง ตะปูที่มีขนาดของลำตัวยาว 1 นิ้วครึ่ง
ปลายตะปู โดยทั่วไปปลายตะปูจะมีลักษณะเป็นปลายแหลมคม ทำหน้าที่ทะลุทะลวงเนื้องาน และยังช่วยให้ตะปูสามารถยึดฝังอยู่ในตัวเนื้องาน
ประเภทของตะปู (Types of Nail)
ปัจจุบันมีการผลิตตะปูมากกว่า 2,000 ประเภทสำหรับใช้งานทั่วโลก ในต่างประเทศจะแบ่งประเภทของตะปูตามความยาวออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ Tack หรือ Brads (ตะปูที่มีความยาวน้อยกว่า 1 นิ้ว) ตะปู (ตะปูที่มีความยาวระหว่าง 1 ถึง 4 นิ้วเรียกว่าตะปู หรือ Nails) และ Spikes (ตะปูที่มีความยาวมากกว่า 4 นิ้วขึ้นไป) สำหรับประเทศไทยจะแบ่งประเภทของตะปูที่นิยมใช้งานโดยทั่วไปออกเป็น 5 ประเภท (การแบ่งประเภทของตะปูจะขึ้นอยู่กับพื้นผิวของวัสดุและชิ้นงานที่จะนำตะปูไปใช้งาน) ดังนี้
- ตะปูที่ใช้กับวัสดุไม้ (Wood Nails) เป็นประเภทของตะปูที่นำใช้กับพื้นผิวที่เป็นไม้ มี 3 ประเภทย่อย ได้แก่ ตะปูทั่วไป ตะปูหัวเล็ก และตะปูเกลียว (ตะปูควง)
ตะปูทั่วไป ใช้กับงานขึ้นโครงสร้างต่าง ๆ ที่ทำจากไม้ มีลักษณะของหัวตะปูใหญ่และแบน ผิวเรียบ ผลิตจากโลหะ มีขนาดความยาวตั้งแต่ 1 นิ้วครึ่ง – 6 นิ้ว
ตะปูหัวเล็ก เป็นตะปูที่ใช้กับงานไม้ประเภทงานประดิษฐ์ งานตกแต่ง หรืองาน DIY มีขนาดของหัวตะปูเล็ก (มีอีกชื่อหนึ่งว่าตะปูเข็ม) คุณสมบัติเด่นของตะปูชนิดนี้ คือ สามารถใช้เหล็กดันตัวตะปูให้จมลงในตัววัสดุไม้ได้อีก และใช้สีทาทับเพื่ออุดหัวตะปู และขัดให้เรียบร้อยสวยงาม ตะปูหัวเล็กมีหลายขนาดให้เลือกใช้ (หนึ่งนิ้วครึ่ง – สามนิ้ว)
ตะปูเกลียว (ตะปูควง) มีลักษณะเป็นเกลียวทั้งตัว (ตามชื่อ) หัวตะปูสามารถหมุนหรือไขได้ (มีทั้งหัวกลมและหัวเรียบ) คุณสมบัติเด่นของตะปูชนิดนี้ คือ เหมาะกับงานที่ต้องการแรงยึดมากเป็นพิเศษ ตะปูเกลียวจะมีขนาด 1 นิ้วครึ่ง – 4 นิ้ว
- ตะปูสำหรับงานเหล็ก เป็นตะปูที่ออกแบบมาให้ใช้กับวัสดุที่ทำจากเหล็ก รวมไปถึงงานหลังคา ตะปูประเภทนี้จะมีเกลียวรอบตัวยาวแต่ไม่ถึงปลายของตัวตะปู คุณสมบัติเด่นของตะปูชนิดนี้ คือ มีความหนากว่าตะปูประเภทอื่น ๆ เนื่องจากต้องนำไปเจาะและยึดกับวัสดุเหล็กโดยเฉพาะ
- ตะปูสำหรับงานคอนกรีต เนื่องจากคอนกรีตเป็นวัสดุที่มีความหนาและแข็งแรงเป็นพิเศษ ตะปูที่นำมาใช้กับวัสดุชนิดนี้จึงต้องมีคุณสมบัติเฉพาะที่สามารถเจาะผิวคอนกรีตได้ ตะปูประเภทนี้มีลักษณะคล้ายกับตะปูตอกไม้ แต่เหนียวและแข็งแรงกว่า ผลิตจากเหล็กชนิดพิเศษ ลำตัวของตะปูจะเป็นร่องเล็ก ๆ และปลายตะปูมีหลากหลายรูปแบบขึ้นอยู่กับการออกแบบ คุณสมบัติเด่นของตะปูชนิดนี้ ได้แก่ ความแข็งแรงที่ไม่สามารถทำให้บิดหรืองอได้โดยง่าย
- ตะปูสำหรับงานสังกะสี เป็นตะปูเฉพาะที่ใช้กับวัสดุหรือสิ่งของที่เป็นสังกะสี ผลิตจากเหล็กที่นำไปชุบสังกะสี (Galvanized) เพื่อป้องกันสนิม มีลักษณะของหัวตะปูใหญ่ กลมและโค้งมนเล็กน้อย คุณสมบัติเด่นของตะปูชนิดนี้ คือ ได้รับการออกแบบมาให้เกาะยึดกับโครงสร้างอย่างแน่นหนาเมื่อเจอลมแรงจะไม่หลุดปลิวได้ง่าย
- ตะปูรีเวท (ตะปูยิง) หรือลูกรีเวท คือ ตะปูอีกประเภทหนึ่ง (เนื่องจากมีลักษณะคล้ายตะปู) ที่ใช้ในการยึดชิ้นงานจากด้านใดด้านหนึ่งเข้าด้วยกันอย่างถาวร ผลิตจากอลูมิเนียม คุณสมบัติเด่นของตะปูชนิดนี้ คือ ใช้ยึดส่วนประกอบของชิ้นงานที่เป็นเหล็กหรืออลูมิเนียมที่มีความยากและต้องประกอบจากด้านใน
เมื่อทราบประเภทและลักษณะทางกายภาพของตะปูแล้ว ควรเลือกใช้งานตะปูให้ตรงกับประเภทของงาน หรือวัสดุของงานเป็นหลัก เนื่องจากปัจจุบันมีการผลิตตะปูที่ใช้กับเนื้อวัสดุหรือประเภทของงานเฉพาะมากขึ้น (สามารถสอบถามการเลือกซื้อตะปูจากผู้ขายได้ เพราะผู้ขายจะมีความรู้และความเข้าใจเรื่องของตะปูเป็นอย่างดี) และต้องวัดความหนาของชิ้นงานหรือวัตถุก่อนไปซื้อตะปูทุกครั้ง เพราะความหนาของชิ้นงานต้องสอดคล้องกับความยาวของตะปูเสมอเพื่อให้การยึดวัตถุหรือชิ้นงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ความเป็นมาของตะปู (History of Nails)
ตะปูเป็นวัสดุที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นและใช้งานมาเป็นเวลายาวนานตั้งแต่สมัยโบราณ และเชื่อกันว่าตะปูถูกประสร้างขึ้นในยุคเมโสโปเตเมีย (Mesopotamia) หรือบางบันทึกรายงานจะระบุว่าตะปูเกิดขึ้นก่อนยุคสำริด (Pre-Bronze Age) หรือช่วง 3500 BC คาดการณ์กันว่าในยุคดังกล่าวตะปูผลิตจากทองแดง (Copper) ที่สกัดมาจากแร่สัมฤทธิ์ (Bronze) โดยมีหลักฐานเป็นตะปูที่ค้นพบในประเทศอียิปต์ และในคัมภีร์ใบเบิล (The Bible) มีการกล่าวถึงการใช้ตะปูกับพระเยซู และในช่วงหลังนี้เองที่ใช้แร่เหล็ก (Iron) ในการผลิตตะปูแทน ในช่วงแรกของการผลิตตะปู จะขึ้นรูปตะปูด้วยค้อน และในแต่ละครั้งจะผลิตตะปูได้เพียง 1 ตัวเท่านั้น ด้วยสาเหตุนี้ ตะปูในยุคก่อน ๆ จึงมีราคาแพงมาก
ก่อนยุคปฏิวัติอเมริกา (American Revolution) ประเทศอังกฤษคือผู้ผลิตตะปูรายใหญ่ที่สุดของโลก ในช่วงนั้นอาณานิคมของอังกฤษในอเมริกา 13 อาณานิคม ไม่สามารถหาซื้อตะปูมาใช้งานได้เอง (เพราะราคาสูงมาก) ดังนั้นหลายครอบครัวในอเมริกาที่อยู่ภายใต้อาณานิคมของอังกฤษจะมีเครื่องผลิตตะปูขนาดเล็กภายในบ้านโดยจะวางอยู่ข้างกับเตาผิงไฟ ในช่วงที่สภาพอากาศเลวร้ายตอนกลางคืน ทุกคนในบ้านจะช่วยกันผลิตตะปู ซึ่งการผลิตตะปูจะไม่ใช่เพียงแค่ผลิตสำหรับใช้สำหรับใช้ภายในครอบครัวเพียงอย่างเดียว แต่ตะปูในยุคดังกล่าวยังมีมูลค่าสูงมากจนสามารถนำไปแลกเปลี่ยนเป็นสินค้าที่ต้องการได้ (Barter)
อย่างไรก็ดี การผลิตตะปูใช้งานเองไม่ได้จำกัดที่ชนชั้นล่างของอเมริกาเท่านั้น Thomas Jefferson อดีตประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกายังเคยกล่าวว่า “อาชีพสุจริตทุกอาชีพคืออาชีพที่มีเกียรติ และข้าพเจ้าเองเป็นช่างทำตะปูเช่นกัน” ซึ่งในปี 1796 เครื่องตัดตะปูเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ถูกคิดค้นขึ้นมาใหม่ Thomas Jefferson เป็นกลุ่มแรก ๆ ของคนอเมริกันที่ซื้อเครื่องตัดตะปูเพื่อผลิตตะปูสำหรับขาย ในยุคของ Thomas Jefferson ตะปูเป็นสิ่งที่มูลค่ามากจนที่ใครต่อใครต่างยอมเผาบ้านเพื่อเอาตะปูไปขายแลกกับเงิน และการเผาบ้านเพื่อเอาตะปูไปขายกลายเป็นเรื่องปกติในสมัยนั้น อย่างไรก็ดี การประดิษฐ์เครื่องจักรตัดตะปูขึ้นใหม่นี้ ส่งผลให้ประเทศสหรัฐอเมริกาขึ้นเป็นผู้นำผู้ผลิตตะปูรายใหญ่ที่สุดของโลกแทนอังกฤษ
ในช่วงปี 1850 มีการจัดตั้งโรงงานผลิตตะปูลวด (Wire Nails) หลายโรงงานในนิวยอร์ค เครื่องจักรที่ใช้ผลิตตะปูลวดจะนำเข้ามาจากประเทศฝรั่งเศส ในระยะแรกของโรงงานที่ตั้งขึ้นในนิวยอร์ก ตะปูลวดจะถูกผลิตขึ้นเพื่อใช้ในการผลิตโครงหนังสือขนาดเล็ก (Pocket Book Frame) และกล่องใส่ซิการ์เท่านั้น (Cigar Box) หลังจากนั้นไม่นานก่อนช่วงสงครามระหว่างรัฐในประเทศสหรัฐอเมริกา (The American War Between the States) ตะปูลวดได้รับการยอมรับในแวดวงก่อสร้างเนื่องจากความสามารถในการยึดวัตถุหรือสิ่งของเข้าไว้ด้วยกัน
สาระน่ารู้ที่เกี่ยวข้องกับตะปู
ทราบหรือไม่ว่าตะปูที่ผ่านการตอกหรือตีเข้าสู่ตัววัตถุหรือชิ้นงาน เมื่อผ่านไป 2 วัน ความสามารถในการยึดชิ้นส่วนหรือวัตถุเข้าด้วยกันของตะปู (Holding Power) จะลดลงไปประมาณครึ่งหนึ่ง (สำหรับวัตถุหรือชิ้นงานที่เป็นเนื้อไม้) และเมื่อเวลาผ่านไปประมาณ 1 เดือน ความสามารถในการยึดชิ้นส่วนหรือวัตถุเข้าด้วยกันของตะปูจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากเส้นใยของเนื้อไม้ที่ถูกตะปูตอกไปนั้นจะยืดตรงและจับเข้ากับตัวตะปู
ข้อควรระวังและการดูแลรักษาตะปู
เช่นเดียวกับวัสดุและอุปกรณ์ประเภทอื่น ๆ ที่ต่างก็มีข้อควรระวังสำหรับใช้งาน รวมไปถึงวิธีดูแลรักษา ข้อควรระวังและการดูแลรักษาตะปู มีดังนี้
- ไม่ควรโหมแรงมากเกินไปในการตอกหรือตีตะปู เพราะจะทำให้ตะปูหด ร้อนหรือบิดงอได้ ควรใช้แรงตอกตะปูให้พอดีและสม่ำเสมอ
- หากมีตะปูที่เหลือใช้จากการทำงานแล้ว ควรเก็บตะปูไว้ในกล่องและเก็บให้มิดชิด ต้องอยู่ในที่แห้ง (ไม่ควรเก็บตะปูในที่ชื้น เพราะจะทำให้เป็นสนิมได้)
สรุป:
ตะปูเป็นวัสดุที่มีหลากหลายหน้าตาตามประเภทการใช้งาน ควรเลือกตะปูให้เหมาะกับชิ้นงานที่ต้องการหรือวัสดุที่ต้องการนำตะปูไปใช้งาน เพราะตะปูแต่ละชนิดถูกออกแบบมาให้ใช้กับงานเฉพาะ หากไม่แน่ใจหรืออยากได้ข้อมูลเพิ่มเติมที่เกี่ยวข้องกับตะปูให้สอบถามเจ้าหน้าที่หรือพนักงานขาย
ที่เฮียบฮกออนไลน์ เรามีตะปูประเภทต่าง ๆ จำหน่าย ดังนี้
- ตะปูยิงอลูมิเนียมคุณภาพดี (จำหน่ายเป็นกล่อง)
- ตะปูตอกสังกะสี (หัวหมวกตอกไม่หลุด) ขนาด 1.3/4×13
- ตะปูตอกไม้คุณภาพสูง ขนาด 1 – 4 นิ้วจำหน่าย (จำหน่ายยกลัง)
- ตะปูยิงฝ้า (จำหน่ายเป็นกล่อง)
- ตะปูคอนกรีต (จำหน่ายเป็นกล่อง) ขนาด 1 – 3 นิ้ว
- ตะปูคอนกรีต (จำหน่ายเป็นกล่อง) มีทั้งตะปูคอนกรีตสีดำและสีขาว
_ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _
หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับเครื่องมือช่าง อุปกรณ์ก่อสร้างทั่วไป รวมถึงเครื่องมือทางการเกษตร
สามารถสอบถามแอดมินร้านเฮียบฮกออนไลน์ได้เลยทันที
เฮียบฮกออนไลน์ยินดีตอบคำถามและให้คำปรึกษาเรื่องเครื่องมือช่าง
โทรศัพท์: 0956549462 และ 0626463545
Facebook: Heabhok
Line: @heabhok (พิมพ์@ด้วยน้า)
I may need your help. I tried many ways but couldn’t solve it, but after reading your article, I think you have a way to help me. I’m looking forward for your reply. Thanks.