อย่ามองข้าม…เทปพันเกลียว (เทปผ้า/เทปพันเกลียวท่อประปา)

เทปพันเกลียว

            เครื่องมือช่างอีกหนึ่งชนิดที่ควรมีติดบ้าน อย่างเช่น “เทปพันเกลียว” คือ เครื่องมือช่างที่ไม่ควรมองข้ามและต้องมีติดบ้านไว้เสมอ เนื่องจากหนึ่งในปัญหายอดฮิตที่ต้องพบเจอเกี่ยวกับน้ำใช้ภายในบ้าน คือ ปัญหาบริเวณก๊อกน้ำและท่อประปารั่วซึม จึงควรมีเทปพันเกลียวติดบ้านไว้สำหรับแก้ไขปัญหาดังกล่าว “เทปพันเกลียวเป็นเครื่องมือช่างสำหรับงานประปาที่ขาดไม่ได้” เทปพันเกลียวยังเหมาะกับผู้ที่ชื่นชอบต่อเติมหรือซ่อมแซมบ้านด้วยตนเอง (เช่นการต่อท่อประปาหรือหัวก๊อกน้ำด้วยตนเอง)

               เฮียบฮกออนไลน์ขอนำเสนอ “เทปพันเกลียว” ให้เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือช่างพื้นฐานที่ควรค่าแก่การซื้อติดบ้านไว้ เพราะเป็นสิ่งที่จำเป็นหากเกิดปัญหาที่ข้อต่อของท่อน้ำและก๊อกน้ำ

เทปพันเกลียวสำคัญอย่างไร ทำไมเฮียบฮกออนไลน์จึงยกให้เป็นเครื่องมือช่างที่ไม่ควรมองข้าม

       เทปพันเกลียว     เทปพันเกลียว ผ้าเทป หรือเทปพันเกลียวท่อประปา (Thread Seal Tape) คือ เครื่องมือช่างพื้นฐานประเภทหนึ่งที่นิยมนำมาใช้กับงานประปา งานหลักที่นำมาใช้กันมากที่สุด ได้แก่ การพันข้อต่อหรือเกลียวท่อประปา (หรือเกลียวท่อพีวีซีสีฟ้าใช้เทปพันเกลียวเช่นกัน) เทปพันเกลียวมีลักษณะเป็นสายสีขาว ม้วนพันเข้ากับแกนม้วนสายเทปทรงกลม มีความกว้างไม่มากนัก (เครื่องมือช่างประเภทนี้จะเน้นที่ความหนาและเหนียวของสายเทปเป็นหลัก) เทปพันเกลียวแต่ละยี่ห้อจะมีความแตกต่างกันออกไป เช่น ความหนา การทนต่อสารทำละลาย และแรงเสียดทาน เป็นต้น

             

              ความสำคัญของเทปพันเกลียว คือ ช่วยให้เกลียวข้อต่อของก๊อกน้ำหรือท่อประปาสามารถสวมยึดติดกันได้อย่างหนาแน่นขณะเดียวกันยังเป็นตัวหล่อลื่นระหว่างเกลียวข้อต่อ 2 ตัวเป็นอย่างดี เทปพันเกลียวยังช่วยให้เกลียวท่อหรือข้อต่อไม่ให้หลุดออกจากกันในกรณีที่เกลียวข้อต่อของก๊อกน้ำหรือท่อประปาคลายออกจากกัน นอกจากนี้ เทปพันเกลียวยังมีคุณสมบัติพิเศษ เช่น ช่วยให้การสวมข้อต่อระหว่างท่อประปาหรือชิ้นส่วนของก๊อกน้ำง่ายและแน่นหนามากขึ้น ป้องกันไม่ให้เกลียวระหว่างข้อต่อของชิ้นส่วนก๊อกน้ำหรือท่อประปาสัมผัสกันโดยตรง (หากสัมผัสกันโดยตรงจะทำให้เกลียวข้อต่อชำรุดหรือสึกหรอได้) และยังช่วยให้ไม่เกิดการรั่วซึมของน้ำจากรอยต่อระหว่างเกลียวข้อต่อ (ส่งผลต่อค่าน้ำประปาโดยตรง รวมไปถึงพื้นที่ปูด้วยไม้หรือกระเบื้องยางในกรณีเกิดการรั่วซึม)

            การเลือกซื้อเทปพันเกลียว (How to Buy a Thread Seal Tape)

                การซื้อเทปพันเกลียว หากไปซื้อที่ร้านวัสดุก่อสร้างด้วยตนเอง ให้สอบถามผู้ขายทุกครั้ง ไม่ควรหยิบเทปพันเกลียวเองเนื่องจากอาจจะหยิบผิดได้ เทปพันเกลียวมีลักษณะและรูปทรงคล้ายกับเทปพันสายไฟฟ้า ตามมาตรฐานของสหรัฐอเมริกา เทปพันเกลียวทั่วไปจะมี 2 ชั้นคุณภาพ ได้แก่ ชั้นคุณภาพ MIL-T-27730A (คุณลักษณะเฉพาะของทหารที่ยังคงใช้ในอุตสาหกรรมของประเทศสหรัฐอเมริกา) เทปพันเกลียวต้องมีความหนา 3.5 มิลลิเมตรและมีเทฟลอนบริสุทธิ์ประมาณ 99 เปอร์เซ็นต์ (PTFE) และชั้นคุณภาพ A-A-58092 เป็นชั้นคุณภาพเชิงพาณิชย์ (Commercial Grade) เทปพันเกลียวมีขนาดความหนาเช่นเดียวกับชั้นคุณภาพ MIL-T-27730A แต่เพิ่มเติมความหนาแน่น (Density) ของเทปพันเกลียว 1.2 กรัม/ลูกบาศก์เซนติเมตร (เป็นความแตกต่างระหว่าง 2 ชั้นคุณภาพดังกล่าว) และมาตรฐานของเทปพันเกลียวอาจแตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับประเภทของอุตสาหกรรม ตัวอย่าง เช่น เทปพันเกลียวที่ใช้กับงานแก๊ส จะต้องมีความหนากว่าเทปพันเกลียวที่ใช้กับงานน้ำหรือประปา (ตามกฎของประเทศอังกฤษ)

               โดยทั่วไป คนส่วนใหญ่จะคุ้นเคยกับเทปพันเกลียวที่ใช้กับงานก๊อกน้ำหรือท่อประปาเป็นสีขาว แต่ทั้งนี้เทปพันเกลียวที่ใช้กับงานประปาอาจเป็นสีอื่น ๆ ได้เช่นกัน ขึ้นอยู่กับ Code Pipelines ของแต่ละประเทศ โดยทั่วไปเทปพันเกลียวสีต่าง ๆ จะถูกกำหนดให้ใช้กับงานเฉพาะ ดังนี้

สีขาว: เทปพันเกลียวสีนี้เหมาะกับงานประปาทั่วไป

สีเหลือง: เป็นเทปพันเกลียวสำหรับใช้กับท่อหรือสายส่งแก๊ส เช่น แก๊สธรรมชาติ

สีชมพู: เทปพันเกลียวสำหรับงานประปาหนัก

สีเขียว: เป็นเทปพันเกลียวที่ไม่มีจารบีเหมาะกับงานหรือท่อออกซิเจน

สีเทา: เทปพันเกลียวใช้กับท่อประปาที่ผลิตจากเหล็กกล้าไร้สนิมหรือสแตนเลส ตัวเทปมีความหนามากเป็นพิเศษเพื่อป้องกันการยึดเกาะ

สีแดง: เป็นเทปพันเกลียวที่มีความหนากว่าเทปพันเกลียวทั่วไปเหมาะกับท่อที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางขนาด ½ ถึง 2 นิ้ว และเกลียวข้อต่อขนาดใหญ่

              ส่วนเทปพันสายไฟฟ้าจะมีลักษณะคล้ายกับเทปพันเกลียวแต่จะมีความกว้างมากกว่าหรือใหญ่กว่านั้นเอง และผลิตจากวัสดุคนละประเภทกัน (เทปพันเกลียวมักผลิตจากเทฟลอน ส่วนเทปพันสายไฟจะผลิตด้วย PVC หรือไวนิล) เทปพันสายไฟมีหลายสี เช่น สีดำ สีแดง สีน้ำเงิน และสีขาว (เทปพันสายไฟสีขาวอาจทำให้สับสนหรือเข้าใจผิดว่าเป็นเทปพันเกลียวได้)

            เทปพันเกลียวใช้งานอย่างไร (How to Use a Thread Seal Tape)

            ปัญหาส่วนหนึ่งของการรั่วซึมตรงบริเวณก๊อกน้ำ หรือท่อประปาเกิดจากการพันเทปพันเกลียวไม่ถูกวิธี หรือไม่เข้าใจลักษณะทางกายภาพของเกลียวท่อน้ำซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างอุปกรณ์ก๊อกน้ำ หรือแม้แต่ระหว่างท่อน้ำประปาด้วยกันเอง เมื่อใช้งานก๊อกน้ำหรือเปิดใช้น้ำไประยะหนึ่ง จะพบว่ามีการรั่วซึมของน้ำบริเวณก๊อกน้ำ ข้อต่อหรือตรงบริเวณอื่น ๆ เพื่อป้องกันและแก้ไขน้ำรั่วซึมในอนาคต ขอแนะนำวิธีการพันเทปพันเกลียว ดังนี้

  1. ก่อนการพันเทปพันเกลียว: ให้ทำความสะอาดเกลียวข้อต่อของท่อทั้งข้างในและข้างนอกเพื่อไล่เศษฝุ่น เศษดินหรือวัสดุแปลกปลอมอื่น ๆ ที่อาจยังติดอยู่ที่เกลียวข้อต่อ หากมีเศษวัสดุแปลกปลอมอยู่ จะส่งผลให้การสวมข้อต่อมีปัญหาและเกลียวจะเสียรูปได้
  2. การพันเทปพันเกลียว: ให้ลองสวมข้อต่อของอุปกรณ์ดูก่อนการพันเทปพันเกลียวจริงเพื่อกะจำนวนรอบพันเทปพันเกลียวได้อย่างเหมาะสม หลังจากนั้น ให้พันเทปพันเกลียวโดยมือซ้ายจับท่อและมือขวาจับเทปพันเกลียว (หากถนัดมือซ้ายให้สลับกัน) และพันเทปพันเกลียวโดยหมุนไปทิศเดียวกันตามเข็มนาฬิกา ต้องไม่พันเทปพันเกลียวสลับไปมาหรือสวนทางกัน ต้องพันให้เทปพันเกลียวเรียบเสมอและสนิทกับเกลียวข้อต่อหรือปลายท่อมากที่สุด
  3. การสวมข้อต่อ: เมื่อพันเทปพันเกลียวเสร็จเรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนถัดไป คือ การสวมบิดข้อต่อ ก่อนการสวมข้อต่อจริงให้ลองบิดข้อต่อก่อน วิธีการ คือ บิดข้อต่ออย่างช้า ๆ เพื่อตรวจสอบความหนาของเทปพันเกลียว เพราะหากเทปพันเกลียวหนาเกินไป ท่อจะมีรอยแตกได้ หรือลองสวมข้อต่อเพื่อให้แน่ใจว่าได้พันเทปพันเกลียวรอบข้อต่อไปในทิศทางเดียวกันหรือไม่ ระดับเทปพันเกลียวไม่เสมอกัน หมายถึง การพันเทปพันเกลียวไปคนละทิศละทาง หากสวมข้อต่อในลักษณะที่เทปพันเกลียวไม่เสมอกันอาจทำให้ท่อมีรอยแตกได้อีกเช่นกัน วิธีแก้ไข คือ ต้องรื้อและตัดแต่งท่อใหม่ (ในกรณีนี้อาจทำให้เกิดปัญหาตามได้อีก ดังนั้น ในช่วงที่พันเทปพันเกลียวต้องแน่ใจว่าพันไปในทิศทางเดียวกันและจำนวนรอบต้องพอดี)
เทปพันเกลียว
เทปพันเกลียว

            สำหรับผู้ที่กำลังประสบปัญหาน้ำรั่วซึม มีแนวทางแก้ไข ดังนี้

  1. ให้สำรวจดูว่ามีน้ำรั่วซึมบริเวณใดบ้าง เช่น บริเวณก๊อกน้ำ หรือข้อต่อท่อน้ำ เป็นต้น หลังจากนั้นให้ปิดวาล์วหรือมิเตอร์น้ำที่อยู่หน้าบ้าน
  2. ให้ลองเปิดก๊อกน้ำอีกรอบเพื่อตรวจเช็คว่าน้ำหยุดไหลแล้ว
  3. ให้ถอดอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับน้ำที่รั่วซึมทั้งหมด เพื่อตรวจสอบดูว่าเทปพันเกลียวมีสภาพเป็นอย่างไร (สาเหตุส่วนใหญ่ของน้ำรั่วซึมเกิดจากเทปพันเกลียว)
  4. ให้แกะเทปพันเกลียวของเดิมออกให้หมด หลังจากนั้นให้ทำตามวิธีการพันเทปพันเกลียวที่กล่าวในส่วนก่อนหน้านี้
  5. ให้เปิดวาล์วหรือมิเตอร์น้ำ แล้วเปิดน้ำหรือก๊อกน้ำเพื่อดูว่าน้ำยังรั่วซึมหรือไม่

หมายเหตุ: ก่อนการทำงานที่เกี่ยวข้องกับน้ำประปาทุกครั้ง ให้ปิดมิเตอร์หรือวาล์วน้ำประปาทุกครั้ง ทั้งนี้เทปพันเกลียวแต่ละยี่ห้อในความเป็นจริงจะมีความหนาไม่เหมือนกัน (ถึงแม้จะระบุว่ามีขนาดความหนาเท่ากันก็ตาม) จึงไม่สามารถบอกได้ว่าต้องพันจำนวนรอบเท่าไหร่ ต้องกะรอบพันเทปพันเกลียวเองและจำนวนรอบพอดีสำหรับสวมข้อต่อ

อันตรายที่เกิดจากการใช้งานเทปพันเกลียวไม่ถูกต้อง

(Hazards of Misusing or Misapplying a Thread Seal Tape)

            การพันเทปพันเกลียวมากเกินไป (จำนวนรอบมากเกินไป) หรือใช้ไม่ตรงกับประเภทของงานอาจส่งผลให้เกิดอันตรายได้ เช่น หากพันเทปพันเกลียวมากเกินไปอาจลดความสามารถในการสวมยึดเกลียวข้อต่ออย่างมีประสิทธิภาพได้ และยังลดระดับจุดเฉือน (Shear Point) ระหว่างเกลียวข้อต่อได้อีกเช่นกัน การใช้งานเทปพันเกลียวร่วมกับน้ำยาทาเกลียวท่อ (Pipe Dope Compound) จะทำให้เกลียวข้อต่อต้องทำงานหนักมากเกินไป ไม่เป็นผลดีต่อการทำงานของเกลียวข้อต่อหรือท่อได้ การพันเทปพันเกลียวไม่แน่นหนาจะทำให้ตัวเทปหลุดออกและอาจเบียดข้อต่อหรือทำให้ข้อต่อหลุดออกจากกัน ซึ่งจะเบียดกับบ่าวาล์วได้ (Valve Seat) ดังนั้น หากนำเทปพันเกลียวไปใช้กับการพันข้อต่อกับระบบไฮดรอลิก (Hydraulic System คือ ระบบส่งถ่ายพลังงานของเหลวที่ไม่ใช่น้ำ) อาจไม่เหมาะนัก เพราะจะทำให้เทฟลอนร้อนมากเกินไปและสลายตัวได้ เมื่อเทฟลอนสลายตัวจะกลายเป็นก๊าซพิษ หรือ Perfluoroisobutene ซึ่งมีระดับความเป็นพิษสูงถึง 10 เท่าหรือเทียบเท่ากับก๊าซฟอสจีน (Phosgene) การสูดดมก๊าซชนิดนี้เข้าไปอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้

Tips: การดูแลและเก็บรักษาเทปพันเกลียว (How to Keep and Maintain a Thread Seal Tape) เมื่อใช้งานเทปพันเกลียวเสร็จแล้ว ให้เก็บเทปพันเกลียวในที่แห้งและเย็น หลีกเลี่ยงการเก็บเทปพันเกลียวที่ต้องสัมผัสกับแดดโดยตรง

สรุป:

            เทปพันเกลียวคือเครื่องมือช่างพื้นฐานที่อาจดูไม่มีความหมายมากนักในสายตาของคนทั่วไป แต่ในความเป็นจริง เทปพันเกลียวมีส่วนช่วยป้องกันไม่ให้รั่วซึมและทำให้การลำเลียงส่งน้ำประปาหรือน้ำใช้ภายในบ้านอย่างมีประสิทธิภาพ การมีเทปพันเกลียวติดบ้านไว้หากเกิดปัญหาที่เกี่ยวข้องกับข้อต่อหรือน้ำรั่วซึมขึ้น จะสามารถแก้ไขได้ทันท่วงที การปล่อยให้น้ำรั่วซึมนานเกินไปจะส่งผลต่อค่าน้ำประปา

ที่เฮียบฮกออนไลน์ เรามี “เทปพันเกลียว” เครื่องมือช่างพื้นฐาน จำหน่าย ดังนี้

  1. เทปพันเกลียว ยี่ห้อ Tiger ความยาว 10 เมตร (จำหน่ายเป็นกล่อง)
  2. เทปพันเกลียวจัมโบ้ ความยาว 15 เมตร (จำหน่ายเป็นกล่อง)

_ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _

หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับเครื่องมือช่าง อุปกรณ์ก่อสร้างทั่วไป รวมถึงเครื่องมือทางการเกษตร 

สามารถสอบถามแอดมินร้านเฮียบฮกออนไลน์ได้เลยทันที

เฮียบฮกออนไลน์ยินดีตอบคำถามและให้คำปรึกษาเรื่องเครื่องมือช่าง

โทรศัพท์: 0956549462 และ 0626463545

Facebook: Heabhok

Line: @heabhok (พิมพ์@ด้วยน้า)

2 thoughts on “อย่ามองข้าม…เทปพันเกลียว (เทปผ้า/เทปพันเกลียวท่อประปา)

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *