ความรู้เรื่องวัสดุก่อสร้าง ตอน “ลวดชุบขาว” กับ “ลวดดำ” เหมือนหรือต่างกันอย่างไร

ความรู้เรื่องวัสดุก่อสร้าง ตอน “ลวดชุบขาว” กับ “ลวดดำ” เหมือนหรือต่างกันอย่างไร

           ที่ร้านวัสดุก่อสร้างจะมีวัสดุชนิดหนึ่ง เมื่อเข้าไปในร้านแล้วจะพบกับเส้นลวดที่ถูกมัดเป็นม้วนขด ซึ่งการม้วนลวดเป็นขดกลมเพื่อความสะดวกต่อการจัดเก็บและใช้งาน เนื่องจากความต้องการเส้นลวดโดยส่วนใหญ่จะใช้ในปริมาณที่ค่อนข้างมาก จึงต้องม้วนเป็นขด ซึ่งขดลวดดังกล่าวที่ขายในร้านวัสดุก่อสร้างมีหลายชนิด แต่ใน EP.4 นี้ เฮียบฮกออนไลน์จะนำเสนอขดลวด 2 ชนิดก่อน เพราะเป็นขดลวดที่มีความต้องการใช้งานอยู่ตลอด และเป็นวัสดุที่ขายดีไม่แพ้เครื่องมือช่างและวัสดุอื่น ๆ EP.4 นี้ขอนำเสนอความรู้เกี่ยวกับ“ลวดชุบขาว” และ “ลวดดำ” เป็นขดลวดที่ขายดีเป็นอันดับต้น ๆ

           เมื่อได้ยินชื่อหรือมองลวดชุบขาวกับลวดดำอย่างผิวเผินจะพบว่าลวดทั้งสองชนิดอาจไม่แตกต่างกันเท่าไรนัก อย่างไรก็ดี หากมองด้วยสายตา สิ่งที่บอกถึงความแตกต่างของลวดทั้งสองชนิดดังกล่าว คือ สีของลวด ลวดชุบขาวจะมีสีแวววาว ลวดดำจะมีสีดำตามชื่อ ใน EP.4 นี้ เฮียบฮกออนไลน์ขอนำเสนอความรู้เกี่ยวกับ “ลวดชุบขาว” และ “ลวดดำ” ลวดทั้งสองชนิดมีความเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร รวมถึงการประยุกต์ใช้งานลวดชุบขาวและลวดดำกับงานอะไรได้บ้าง

           ทั้งลวดชุบขาวและลวดดำต่างเป็นวัสดุที่ผลิตจากเหล็กลวด (Wire Rod) เหมือนกันทั้งคู่ แต่มีวัตถุประสงค์ตามการใช้งานที่ไม่เหมือนกัน เรียกได้ว่าการนำลวดทั้งสองชนิดดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ของการนำไปใช้กับงานช่างแตกต่างราวกับหน้ามือเป็นหลังมือ ซึ่งรายละเอียดของความแตกต่างของเส้นลวดทั้งสองชนิด มีดังนี้

ลวดชุบขาว

            ลวดชุบขาว เป็นวัสดุที่มีชื่อเรียกหลากหลาย เช่น ลวดชุบสังกะสี (Galvanized Wire) ลวดขาว ลวดชุบกัลป์วาไนซ์ หรือลวดเหล็กชุด ซึ่งชื่อเหล่านี้มีที่มาจากการกระบวนการผลิตของลวดชุบขาวนั่นเอง

             กระบวนการผลิต: ลวดชุบขาวเป็นวัสดุที่ผลิตด้วยเหล็กลวด (Wire Rod) ซึ่งเหล็กลวดนี้มีลักษณะรูปทรงยาว หน้าตัดของเหล็กลวดนี้จะมีทั้งแบบกลม และแบบสี่เหลี่ยม เริ่มต้นการผลิตลวดชุบขาวด้วยการนำเหล็กลวดเข้าสู่กระบวนการรีดร้อนเหล็กแท่ง ซึ่งกระบวนการรีดร้อนเหล็กแท่งนี้จะทำให้ผิวของลวดเหล็กเรียบมากขึ้น หลักจากนั้นจึงเข้าสู่กระบวนการรีดเย็น (Cold Drawn) เพื่อลดขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของเหล็กลวดให้ได้ตามขนาดที่ต้องการ ลำดับถัดไป คือการนำเหล็กลวดที่ได้ไปชุบกับสังกะสีหรือกัลวาไนซ์ (Hot Dip Galvanized) ซึ่งวิธีการนี้จะต้องชุบหรือเคลือบเหล็กลวดให้มีความหนาของสังกะสีประมาณ 40 – 80 กรัมต่อตารางเมตร

            คุณลักษณะของลวดชุบขาว: เป็นเส้นลวดมันวาวออกสีขาว ผิวสวยงาม จึงนิยมเรียกว่าลวดขาว หรือลวดชุบขาว

            คุณสมบัติทั่วไปของลวดชุบขาว: ลวดชุบขาวเมื่อผ่านการชุบหรือเคลือบสังกะสีจะมีความเรียบสวย แวววาว ทนทานต่อการกัดกร่อน และป้องกันการเกิดสนิม (สังกะสีเป็นธาตุชนิดหนึ่งที่สามารถป้องกันการกัดกร่อนและการเกิดสนิมของโลหะได้)

           การประยุกต์ใช้งานลวดชุบขาว: เป็นวัสดุชนิดหนึ่งที่สามารถนำไปใช้งานได้ค่อนข้างหลากหลาย ดังนี้

งานก่อสร้าง ได้แก่ การทำรั้วชั่วคราว การแปรรูปเป็นตาข่ายทอ การนำไปทำตะแกรงสาน การทำลวดตาข่าย ตะปู ลวดหนาม ลวดแขวนฝ้าเพดาน และสามารถนำไปใช้ผูกขึงฝ้าทีบาร์ได้

งานเกษตรกรรม อาทิ ลวดรองจอกน้ำยางพารา ทำโครงสร้างสำหรับไม้เลื้อย สามารถดัดลวดชุบขาวเป็นทรงต่าง ๆ สำหรับแขวนกระถางต้นไม้ รวมทั้งสามารถประยุกต์ให้เป็นรั้วไฟฟ้าแบบอ่อนสำหรับเลี้ยงวัวควายในทุ่งกลางแจ้ง เป็นต้น

งานเบ็ดเตล็ดอื่น ๆ  เช่น กรงสัตว์ กรงสุนัข กรงแมว กรงนก สุ่มไก่เหล็ก ตะแกรงปิ้งย่าง ดอกไม้ประดิษฐ์ ใช้ทำโครงสร้างคู่กับอวนในงานประมง และทำโครงชั้นวางของ ใช้ทำหูถัง และโครงกระเป๋า เป็นต้น

             การเลือกซื้อลวดชุบขาว: ควรเลือกซื้อลวดชุบขาวจากร้านวัสดุก่อสร้างที่น่าเชื่อถือ นิยมขายกันตามขนาดและน้ำหนักต่อขดเป็นหลัก ผู้ซื้อต้องตรวจสอบให้ดีว่าขนาดและน้ำหนักของลวดชุบขาวที่ต้องการ (สอบถามกับผู้ขายได้เพื่อความมั่นใจ จะได้ไม่เสียเงินฟรี)

นอกจากลวดชุบขาวแล้ว ยังมีลวดดำที่มีความต้องการใช้งานในปริมาณสูง ถัดไปจะกล่าวถึง “ลวดดำ” มีรายละเอียดดังนี้     

ลวดดำ

           ลวดดำ เป็นวัสดุอีกชนิดหนึ่ งที่สามารถพบได้ในร้านวัสดุก่อสร้าง และมักถูกเรียกว่าลวดผูกเหล็กหรือลวดมัดเหล็ก ลวดดำเป็นลวดเหล็กที่ผลิตขึ้นเพื่อใช้กับงานก่อสร้างโดยเฉพาะ

           กระบวนการผลิต: ลวดดำเป็นเส้นลวดที่ผลิตด้วยเหล็กลวด (Wire Rod) คล้ายกับกระบวนการผลิตลวดชุบขาว แต่ต่างกันที่หลังกระบวนการรีดร้อนเหล็กแท่ง ลวดดำจะถูกนำมารีดให้มีขนาดเล็กลงโดยมีขนาดของเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1.25 มิลลิเมตร หรือเทียบเท่ากับลวดเบอร์ 18 จากนั้น นำเข้าสู่กรรมวิธีอบอ่อน (Annealing) ที่อุณหภูมิ 800 องศาเซลเซียส ประมาณ 12 ชั่วโมง ซึ่งลวดดำนี้จะไม่ผ่านการชุบสังกะสี ทั้งนี้การอบอ่อนจะทำให้ลวดดำ มีคุณสมบัติอ่อนตัวลง สามารถบิดงดได้ และไม่ทำให้แตกหัก

          คุณลักษณะของลวดดำ: มีลักษณะเป็นลวดขนาดเล็ก สีดำ สามารถบิดงอได้

          คุณสมบัติทั่วไปของลวดดำ: สามารถทนต่อแรงดึงไม่น้อยกว่า 30 กิโลกรัมต่อตารางมิลลิเมตร ทนการบิดได้ต่ำสุด 75 รอบ มีความแข็งแรงทนทาน เหนียว นิ่ม ทำให้ผูกง่ายและไม่ขาด

             การประยุกต์ใช้งานลวดดำ: ลวดดำเป็นเหล็กลวดที่ผลิตมาเพื่อใช้ในงานก่อสร้างโดยเฉพาะ ได้แก่ งานผูกเหล็กเสริมคอนกรีต เหล็กเสริมพื้น เหล็กปลอกคาน และปลอกเสา ลวดดำสามารถผูกเหล็กเส้นสองให้ยึดติดกันตรงจุดเชื่อมเพื่อให้มีลักษณะเหมือนตะแกรงลวดเหล็ก (Wire Mesh) ใช้ผูกโครงเหล็กในงานฝ้าเพดาน หรือเหล็กรองฉนวนบนเพดาน

              การเลือกซื้อลวดดำ: ต้องเลือกซื้อลวดดำที่ไม่แข็งหรืออ่อนจนเกินไป หากเลือกซื้อลวดดำที่แข็งเกินไปจะส่งผลต่อการใช้งาน เนื่องจากลวดดำที่แข็งเกินไปจะทำให้บิดงอลำบาก ต้องออกแรงในการบิดมากขึ้นและอาจทำให้ไม่ได้รูปทรงตามที่ต้องการ แต่ถ้าเลือกซื้อลวดดำที่อ่อนเกินไป หากออกแรงมากอาจทำให้ลวดดำขาดได้ง่าย นอกจากนี้การเลือกซื้อลวดดำต้องเลือกลวดดำที่ไม่เป็นสนิม นอกจากนี้ลวดดำจะซื้อขายกันตามน้ำหนักของลวดดำต่อขดเป็นหลัก โดยทั่วไปนิยมใช้ลวดดำเบอร์ 18 หรือลวดเหล็กที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1.25 มิลลิเมตร และมีน้ำหนักประมาณ 2.5 ถึง 3 กิโลกรัมต่อขด ซึ่งเป็นขนาดลวดดำที่สามารถนำไปใช้ผูกในงานก่อสร้างได้ง่ายและรวดเร็ว รวมถึงสะดวกต่อการขนย้าย

  สรุป:
           จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นได้ว่า “ลวดชุบขาว” และ “ลวดดำ” มีความแตกต่างกันเป็นอย่างมาก ตั้งแต่กระบวนการผลิตไปจนถึงการนำลวดชุบขาวและลวดชุบดำไปประยุกต์ใช้งาน โดยที่ลวดชุบขาวจะผลิตด้วยวิธีการรีดเย็น (Cold Drawn) สามารถนำไปใช้กับงานได้ค่อนข้างหลากหลายมากกว่า เช่น งานก่อสร้าง หรืองานที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร เป็นต้น ส่วนลวดดำผลิตด้วยวิธีอบอ่อน (Annealing) ใช้ในงานก่อสร้างเป็นหลัก

        สิ่งที่เหมือนกันระหว่างลวดชุบขาวกับลวดชุบดำ คือ ผลิตจากเหล็กลวด (Wire Rod) เหมืนอกัน ซึ่งเหล็กลวดทำหน้าที่เป็นวัสดุตั้งต้นของลวดทั้งสองชนิด ซึ่งเหล็กลวดจะมีรูปทรงยาว ก่อนการนำเหล็กลวดไปผลิตเป็นลวดชุบขาว หรือลวดดำ ต้องผ่านกระบวนการรีดร้อนเหล็กแท่งก่อน กระบวนการนี้จะทำให้ลวดเหล็กมีผิวเรียบขึ้น หลังจากนี้จะเป็นขั้นตอนการผลิตลวดชุบขาวกับลวดดำ

“ลวดชุบขาว” ใช้สำหรับ งานก่อสร้าง งานเกษตรกรรม หรืองานเบ็ดเตล็ดอื่น ๆ ส่วนงานผูกเหล็กเสริมคอนกรีต เหล็กเสริมพื้น เหล็กปลอกคาน และปลอกเสาควรใช้ “ลวดดำ”

ที่เฮียบฮกออนไลน์ เรามีขนาดของลวดชุบขาว ขายตามน้ำหนักต่อขด ดังนี้

  1. ลวดชุบขาว ขนาด #8 น้ำหนัก 50 กิโลกรัมต่อขด
  2. ลวดชุบขาว ขนาด #10 น้ำหนัก 50 กิโลกรัมต่อขด
  3. ลวดชุบขาว ขนาด #11 น้ำหนัก 50 กิโลกรัมต่อขด
  4. ลวดชุบขาว ขนาด #12 น้ำหนัก 50 กิโลกรัมต่อขด
  5. ลวดชุบขาว ขนาด #13 น้ำหนัก 50 กิโลกรัมต่อขด
  6. ลวดชุบขาว ขนาด #14 น้ำหนัก 50 กิโลกรัมต่อขด
  7. ลวดชุบขาว ขนาด #16 น้ำหนัก 50 กิโลกรัมต่อขด
  8. ลวดชุบขาว ขนาด #18 น้ำหนัก 25 กิโลกรัมต่อขด
  9. ลวดชุบขาว ขนาด #20 น้ำหนัก 25 กิโลกรัมต่อขด
  10. ลวดชุบขาว ขนาด #22 น้ำหนัก 25 กิโลกรัมต่อขด
  11. ลวดชุบขาว ขนาด #24 น้ำหนัก 10 กิโลกรัมต่อขด

สำหรับ ลวดดำ ที่เฮียบฮกออนไลน์จะจำหน่ายเฉพาะลวดเบอร์ 18 เท่านั้น เป็นขนาดมาตรฐานและนิยมนำไปใช้กับงานก่อสร้างมากที่สุด

_ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _              

หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับเครื่องมือช่าง อุปกรณ์ก่อสร้างทั่วไป รวมถึงเครื่องมือทางการเกษตร 

สามารถสอบถามแอดมินร้านเฮียบฮกออนไลน์ได้เลยทันที

เฮียบฮกออนไลน์ยินดีตอบคำถามและให้คำปรึกษาเรื่องเครื่องมือช่าง

โทรศัพท์: 0956549462 และ 0626463545

Facebook: Heabhok

Line: @heabhok (พิมพ์@ด้วยน้า)

เครื่องมือช่างและอุปกรณ์

ลวดขาว ลวดชุบสังกะสี

490 ฿2,200 ฿

เครื่องมือช่างและอุปกรณ์

ลวดดำ ลวดผูกเหล็ก

90 ฿

เครื่องมือช่างและอุปกรณ์

แปรงลวดกลม ยี่ห้อ SMC

349 ฿866 ฿

เครื่องมือช่างและอุปกรณ์

ตาข่าย

395 ฿1,785 ฿

เครื่องมือช่างและอุปกรณ์

กรรไกรตัดเหล็ก กรรไกรตัดเหล็กเส้น

288 ฿1,015 ฿

เครื่องมือช่างและอุปกรณ์

กรรไกรตัดสังกะสี

596 ฿873 ฿

One thought on “ความรู้เรื่องวัสดุก่อสร้าง ตอน “ลวดชุบขาว” กับ “ลวดดำ” เหมือนหรือต่างกันอย่างไร

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *