เครื่องมือช่างพื้นฐานอีกชนิดที่เชื่อแน่ว่าหากพูดหรือกล่าวถึงคงไม่มีใครหรือน้อยคนมากที่จะไม่รู้จัก “คีม” และคีมยังเป็นเครื่องมือช่างที่มีหลากหลายประเภทและรูปทรงมากเป็นพิเศษ ทั้งนี้ คีมบางประเภทยังเหมาะเป็นเครื่องมือช่างพื้นฐานที่ต้องมีติดไว้ประจำบ้าน เนื่องจากงานซ่อมแซ่มหรือต่อเติมที่เกี่ยวข้องกับบ้านหลายงานจำเป็นต้องใช้คีมในการทำงาน เช่น งานสายไฟ งานประปา หรืองานท่อน้ำ รวมไปถึง ผู้ที่ชื่นชอบและหลงใหลการประดิษฐ์สิ่งของสำหรับใช้เอง
เฮียบฮกออนไลน์ ขอนำเสนอความรู้ที่เกี่ยวข้องกับคีม (ประเภทของคีมที่นิยมใช้งานมากที่สุด…ซึ่งมีเยอะมาก) และขอเสนอให้ “คีม” เป็นหนึ่งในเครื่องมือช่างพื้นฐานที่ต้องมีติดประจำบ้าน รวมถึงคำแนะนำประเภทของคีมที่ควรมีติดบ้านและการเลือกใช้คีมให้เหมาะกับงานที่ต้องการ
คีม…เครื่องมือช่างพื้นฐานที่ต้องมีติดบ้าน มีอะไรบ้าง
คีม (Pliers) คือ เครื่องมือช่างพื้นฐานชนิดหนึ่งมีลักษณะรูปทรงคล้ายกรรไกรเพราะมี 2 ขาเหมือนกัน (แต่คีมจะมีขนาดใหญ่และหนากว่ามาก ด้ามจับคีมจะไม่มีห่วงหรือรูขนาดใหญ่สำหรับสอดนิ้วสำหรับเกี่ยวกับด้ามจับกรรไกรในการใช้งาน) ถูกผลิตมาเพื่อตัด จับ ปอก ถ่าง เจาะ ถอด ย้ำ ดัด งอ หรือมัดกับชิ้นงานต่าง ๆ ที่ไม่แข็งแรงทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ เช่น งานไฟฟ้าหรือสายไฟ ลวด โลหะแผ่น ท่อขนาดเล็ก งานอิเล็กทรอนิกส์ หรืองานรถยนต์ เป็นต้น นอกจากนี้ คีมยังมีหลากหลายหน้าตาและประเภทตามวัตถุประสงค์ของการใช้งาน
โดยทั่วไป คีมมาตรฐานจะประกอบด้วย 5 ส่วน ได้แก่ ปากจับ ปากคีม ตัวตัด หมุดยึดและด้ามจับ สำหรับปากคีม (Jaws) จะอยู่ตรงส่วนปลายของคีมและเป็นส่วนเดียวกับปากจับทำหน้าที่ประคอง ปากจับ (Pipe Grips) โดยส่วนใหญ่ปากจับของคีมจะเป็นรอยหยักและโค้งสำหรับบีบและจับชิ้นงานทรงกลม ตัวตัด (Cutters) มีลักษณะคม ทำหน้าที่สำหรับตัด เมื่อหนีบชิ้นงานเรียบร้อยแล้วกด ตัวตัดจะทำให้ชิ้นส่วนขาดจากกัน หมุดยึด (Fulcrum หรือ Pivot Point) ทำหน้าที่ยึดชิ้นส่วนของคีมเข้าด้วยกันและยังเสริมแรงให้คีมในการบีบ และด้ามจับ (Handles) สำหรับถือหรือจับคีมให้ติดกับมือขณะใช้งาน ซึ่งด้ามจับของคีมแต่ละประเภทจะแตกต่างกันออกไป อาจเป็นทรงตรงหรือโค้งหรือหุ้มยาง
ความเป็นมาของคีม
เช่นเดียวกับเครื่องมือช่างชนิดอื่น ๆ ที่ไม่มีใครทราบแน่ชัดว่าใครเป็นผู้ประดิษฐ์หรือคิดค้นคีมเป็นคนแรก แต่เป็นเครื่องมือที่มีการใช้งานมาเป็นเวลายาวนาน เชื่อกันว่าคีมถูกใช้มาตั้งแต่สมัยยุคสัมฤทธิ์หรือสำริด (Bronze Age) แต่มีรูปลักษณ์เช่นเดียวกับคีมในยุคปัจจุบันและถูกนำมาใช้งานอย่างแพร่หลายตั้งแต่ช่วงจักรวรรดิโรมัน (the Roman Empire) ซึ่งในยุคนั้นยังเชื่อกันว่าคีมเป็นเพียงอุปกรณ์พื้นฐานทำหน้าที่เหมือนกับแหนบ (Tongs) หรือก้ามปู (Pincers) ในกระบวนการหลอมเหลวหรือถลุงโลหะ/เหล็ก และนับจากนั้นเป็นต้นมา คีมก็มีวิวัฒนาการและถูกปรับเปลี่ยนให้สามารถทำงานได้หลากหลายมากขึ้น เช่น งานที่ต้องการความละเอียด (งานจิวเวอรี่) ไปจนถึงงานที่ต้องใช้กำลัง (งานจับและงานบิดวัตถุ) เป็นต้น และประเภทของคีมที่มีความเป็นเครื่องมือช่างพื้นฐานมากที่สุดจะมีอยู่ 3 ประเภท คือ คีมปากขยาย คีมปากแหลม และคีมปากตรง ซึ่งคีมทั้ง 3 ประเภทเป็นคีมสำหรับใช้จับชิ้นงานหรือวัตถุ (Gripping) เป็นหลัก อย่างไรก็ดี คีมยังมีอีกหลายประเภทและเป็นคีมที่มีหน้าที่เฉพาะสำหรับนำไปใช้งาน
คีม 15 ประเภทที่ต้องรู้จัก และแต่ละประเภทเหมาะกับการใช้งานแบบใดบ้าง
- คีมปากขยาย (Slip-Joint Pliers): เป็นเครื่องมือช่างพื้นฐานอีกประเภทหนึ่งที่ปากคีมมีรูปทรงโค้งมน ส่วนด้านในของปากคีมจะเว้าและมีร่องฟันสำหรับจับชิ้นงาน วัตถุหรือวัสดุ สามารถปรับขยายให้กว้างขึ้นหรือแคบลงได้ (ปรับที่หมุดยึด) ใช้จับชิ้นงานที่มีทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ได้ นิยมใช้กับงานท่อประปา งานเครื่องกล และเครื่องยนต์
- คีมปากจิ้งจก (Combination Pliers): มีอีกชื่อหนึ่ง คือ คีมปากผสม เป็นเครื่องมือช่างที่มีคุณสมบัติครบอยู่ในตัวเดียวแบบอเนกประสงค์ (All in One) เพราะสามารถนำไปใช้จับ ตัดและบีบวัสดุ ชิ้นงานได้เป็นอย่างดี (แนะนำว่าเป็นคีมที่ควรมีติดบ้านเป็นอย่างยิ่ง)
- คีมปากตรง (Linesman’s Pliers): เป็นคีมที่มีกรามขนาดใหญ่ สำหรับตัดและจับโลหะให้โค้งได้อย่างง่าย นิยมใช้กันอย่างมากในงานที่เกี่ยวข้องกับไฟฟ้า หรือยังมีชื่อเรียกอีกอย่างว่า คีมช่างไฟได้ มีคุณสมบัติครบอยู่ในตัวเดียว เพราะมีฟังก์ชันที่ตอบโจทย์การใช้กับงานไฟฟ้า
- คีมย้ำ (Crimping Pliers): เป็นคีมสำหรับย้ำหรือบีบวัสดุหุ้มสายไฟ สายลวดหรือสายสัญญาณให้เปลี่ยนรูปทรงตามที่ต้องการ เมื่อบีบแล้วตัววัสดุที่หุ้มสายไฟ หรือสายสัญญาณจะห่อตัวติดไปกับตัวสายทันที นิยมใช้ในงานสื่อสาร งานคมนาคม และงานไฟฟ้า คีมย้ำยังมีหลากหลายรูปทรงแต่มีวัตถุประสงค์หลักของการใช้งานเหมือนกัน
- คีมล็อค (Locking Pliers): เป็นเครื่องมือพื้นฐานอีกประเภทที่มีความอเนกประสงค์มากอีกหนึ่งประเภทที่ควรหาไว้ติดบ้าน เป็นคีมที่ใช้สำหรับล็อคหรือจับยึดชิ้นงาน วัตถุไม่ให้หมุน เลื่อนหรือแกว่งตัว สามารถปรับขยายหรือล็อควัตถุให้หนาแน่นได้ด้วยการปรับสกรูที่อยู่ปลายด้ามจับ โดยส่วนใหญ่คีมล็อคจะผลิตจากเหล็กจึงทำให้มีน้ำหนักและจับได้อย่างกระชับมือและมั่นคง เนื่องจากคุณสมบัติที่หลากหลาย สามารถนำไปใช้ได้ทุกอุตสาหกรรม
- คีมปากแหลม (Needle Nose Pliers): เป็นคีมที่มีรูปทรงเฉพาะตัว ปากคีมจะเรียว ยาวและแหลมสำหรับใช้ในงานที่แคบ หรือวัตถุงานมีขนาดเล็ก มีความแม่นยำสูง ใช้ในงานดัดและตัดชิ้นงานหรือวัสดุต่าง ๆ ที่ปากคีมยังมีร่องฟันสำหรับจับวัตถุหรือชิ้นงานไม่ให้ลื่นไหล คีมปากแหลมมักใช้ในอุตสาหกรรมไฟฟ้า สร้างเครื่องประดับ งานประดิษฐ์หรืองานอิเล็กทรอนิกส์ และยังเป็นคีมที่ช่างส่วนใหญ่แนะนำให้หาติดบ้านไว้
- คีมปากแบน (Flat Nose Pliers): หากต้องการจับและบิดโลหะหรือสายไฟได้อย่างมั่นคง ให้เลือกใช้คีมปากแบน เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือช่างที่นิยมใช้กับงานไฟฟ้า
- คีมปากจรเข้หรือคีมปากรวม: เป็นคีมที่มีคุณสมบัติ All In One กล่าวคือ คีมปากจระเข้เป็นคีมที่สามารถนำไปใช้งานได้อย่างหลากหลาย เช่น จับวัตถุหรือชิ้นงาน และตัดชิ้นงาน ปากด้านในคีมมีร่องฟันที่ช่วยในการจับวัตถุหรือชิ้นงานให้อยู่นิ่ง นิยมใช้ตัดลวดหรือสายไป
- คีมตัดเหล็ก (Bolt Cutters): เป็นคีมที่ถูกผลิตขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เฉพาะในการใช้งาน คือ เป็นคีมที่เหมาะสำหรับการตัดเหล็ก โซ่ และกุญแจ เพราะมีลักษณะเหมือนกรรไกร จึงมีหลายคนเรียกคีมประเภทนี้ กรรไกรตัดเหล็ก ด้วยคุณสมบัติที่มีด้ามจับยาว จะช่วยส่งแรงกดได้สูงขึ้น อย่างไรก็ดี ผู้ใช้คีมตัดเหล็กอาจต้องใช้ทั้งสองมือกดเพื่อดันตัวปากคีมให้ตัดวัสดุเหล็กให้ขาด
- คีมปอกสาย (Wire Strippers): เป็นเครื่องมือช่างอีกประเภทที่ใช้สำหรับลอกและปอกสายพลาสติกหุ้มสายไฟหรือสายทองแดงที่เป็นฉนวนหุ้ม หลังจากลอกและปอกฉนวนหุ้มเรียบร้อยแล้ว จะนำลวดของแต่ละสายไฟที่ต้องการมาต่อเชื่อมเข้าด้วยกัน ซึ่งคีมปอกสายจะตัดสายหุ้มแต่จะตัดไม่ถึงสายไฟที่อยู่ภายใน หรือตัดเฉพาะฉนวนหุ้มเท่านั้น เป็นคีมที่ช่างไฟฟ้านิยมใช้กันเป็นอย่างมาก คีมปอกสายมีหลายรูปทรงตามแต่ที่ผู้ผลิตจะผลิตออกมา
- คีมย้ำ(ลูก)รีเวท (Riveter Pliers): เป็นคีมที่ออกแบบมาเพื่อยึดชิ้นส่วนสองชิ้นเข้าด้วยกันให้แน่นด้วยการตอกจากการสร้างแรงดันภายในผ่านการกดและย้ำลูกรีเวท เพียงเสียบลูกรีเวทเข้าในรูตรงปลายคีม เมื่อลูกรีเวทถูกบีบอัดกับตัวหมุดรีเวทจะทำให้ตัวหมุดขยายใหญ่ขึ้น และบีบให้คับ ส่งผลให้ลูกรีเวทแน่นและยึดชิ้นงานเข้าหากันได้ คีมย้ำ(ลูก)รีเวทจะใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องบิน จักรกลหนักหรือยานยนต์เป็นส่วนใหญ่
- คีมผูกลวดหรือคีมปากนกแก้ว (Carpenter Pliers): เป็นเครื่องมือช่างพื้นฐานมีหน้าที่เฉพาะสำหรับตัดชิ้นงานหรือวัตถุ ดึงตะปูและเส้นลวดได้เป็นอย่างดี เนื่องจากปากของคีมประเภทนี้มีลักษณะคล้ายกับปากของนกแก้ว จึงเรียกว่า คีมปากนกแก้ว เป็นคีมที่ถูกออกแบบมาเพื่อผูกและตัดลวดได้อีกเช่นกัน โดยส่วนมากจะใช้ในงานผูกเหล็กเส้นโครงสร้างคอนกรีตเข้าหากัน ลักษณะการทำงานของคีมประเภทนี้ คือ ผูกลวดไว้ที่ปากคีมแล้วบีบที่ด้ามจับเบา ๆ เพื่อหนีบและบิดลวด หลังจากนั้นให้หมุนคีมผูกลวดเพื่อมัดลวดให้แน่น เมื่อผูกเสร็จแล้วใช้คีมตัดตรงบริเวณลวดเหล็กที่ต้องการด้วยการบีบที่ด้ามจับคีมผูกลวดแรง ๆ อย่างไรก็ดี คีมประเภทนี้ไม่สามารถจับวัตถุหรือชิ้นงานได้
- คีมจับอ็อกหรือหัวเชื่อม (Electrode Holder): เป็นคีมที่ถูกออกแบบมาให้ใช้กับงานเฉพาะสำหรับจับลวดเชื่อมด้วยเครื่องเชื่อมไฟฟ้า การทำงานของคีมจับอ็อก จะต้องต่อสายไฟเข้ากับเครื่องเชื่อมไฟฟ้าและเชื่อมกระแสไฟฟ้าเข้ากับขั้วไฟฟ้า
- คีมคอม้าหรือประแจคอม้า (Straight Pipe Wrench): เป็นเครื่องมือช่างพื้นฐานสำหรับงานประปาที่ควรมีติดบ้านเป็นอย่างยิ่ง ถูกออกแบบมาสำหรับหมุนวัสดุทรงกลมหรือกระบอก เช่น หมุนท่อเหล็ก ท่อพีวีซี และข้อต่อ ตรงบริเวณปากคีมสามารถปรับขยายเข้าหรือออกตามขนาดของวัสดุทรงกระบอกหรือทรงกลมได้เป็นอย่างดี
- คีมตัดสาย (Diagonal Pliers): เป็นคีมตัดชิ้นงานหรือวัสดุแบบพื้นฐาน ทำงานคล้ายกับกรรไกร ใช้ในการตัดวัสดุเฉพาะ ได้แก่ ลวดที่มีความหนาเป็นพิเศษ ตะปู หรือตัดวัสดุทรงโค้ง วิธีการใช้งาน คือ ต้องออกแรงบีบที่ด้ามจับเพื่อกดให้ชิ้นงานขาดหรือหลุดแยกออกจากกัน (เป็นคีมคนละประเภทกับคีมปอกสาย)
การดูแลและรักษาคีมให้สามารถใช้งานได้อย่างยาวนาน
สิ่งสำคัญที่สุดที่จะช่วยยืดอายุการใช้งานของคีมไม่ว่าจะเป็นคีมประเภทใดก็ตาม ควรเลือกคีมให้ตรงกับประเภทของงานมากที่สุด เพราะในปัจจุบัน คีมแต่ละประเภทถูกออกแบบมาให้ตรงกับลักษณะของงานแต่ละชนิด ดังนั้น ควรศึกษาข้อมูลและประเภทของคีมก่อนการใช้งานอยู่เสมอ ตัวอย่างเช่น คีมปากนกแก้วที่ไม่สามารถนำมาใช้จับชิ้นงานได้ หากต้องการลอกและปอกสายหุ้มไฟฟ้า หรือสายสื่อสาร ให้ใช้คีมปอกสายโดยเฉพาะ สำหรับชิ้นงานหรือวัสดุที่มีขนาดใหญ่ ให้ใช้คีมปากขยาย เพราะจะช่วยให้จับชิ้นงานได้อย่างมั่นคง ไม่เคลื่อนที่ไปมา
อย่างไรก็ดี ก่อนการใช้งานคีมทุกครั้ง ต้องสำรวจดูว่าร่องฟันของคีมอยู่ในสภาพพร้อมใช้งานหรือไม่ ร่องฟันจะต้องไม่ทื่อและสึกหรอ หมั่นหยอดน้ำมันที่จุดหมุนของคีมเป็นระยะในกรณีที่ไม่ได้ใช้งานคีมหรือต้องการเก็บคีมไว้เป็นระยะเวลานาน ต้องไม่นำคีมไปใช้งานผิดประเภท เช่น ใช้คีมขันสกรูหรือเกลียว เพราะจะทำให้ปากคีมแตกและเสียหายได้ ไม่ใช้คีมแทนค้อน หลังการใช้งานคีมเสร็จทุกครั้งให้ทำความสะอาดและหยอดน้ำมัน และเก็บในกล่องหรือที่เก็บที่เหมาะต่อการเก็บรักษาคีม
สรุป:
ถึงแม้ว่าคีมที่ขายอยู่ในท้องตลาดจะมีมากมายหลายประเภทและรูปทรง แต่คีมเหล่านั้นเป็นคีมที่ออกแบบมาโดยมีวัตถุประสงค์การใช้งานเฉพาะ ดังนั้น หากต้องการใช้งานคีม ควรเลือกใช้ให้ตรงกับงาน และคีมบางประเภทยังเป็นเครื่องมือช่างพื้นฐานที่ควรมีติดบ้าน เพราะมีทั้งคุณสมบัติและคุณประโยชน์ที่ตอบโจทย์กับการใช้งานที่เกี่ยวข้องกับบ้าน หากไม่แน่ใจว่าควรใช้คีมประเภทไหน ลองสอบถามพนักงานขายหรือเจ้าหน้าที่
ที่เฮียบฮกออนไลน์ เรามีคีมเครื่องมือช่างพื้นฐาน จำหน่าย ดังนี้
- คีมจับอ็อก (หัวเชื่อมหรือหัวเชื่อมไฟฟ้า) มี 300A และ 500A
- คีมย้ำ (คีมย้ำรีเวท) รุ่นมาตรฐาน
- คีมผูกลวด ขนาด 8 นิ้ว (มีคีมผูกลวดดีและคีมผูกลวดจีน)
- คีมปอกสาย ยี่ห้อ Fion ขนาด 6 นิ้ว
- คีมปากจิ้งจก ขนาด 3 – 6 – 8 นิ้ว
- คีมปากแหลม ยี่ห้อ META ขนาด 6 นิ้ว
- คีมล็อค ยี่ห้อ Sonic (จำหน่ายยกกล่อง 6 ชิ้น)
_ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _
หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับเครื่องมือช่าง อุปกรณ์ก่อสร้างทั่วไป รวมถึงเครื่องมือทางการเกษตร
สามารถสอบถามแอดมินร้านเฮียบฮกออนไลน์ได้เลยทันที
เฮียบฮกออนไลน์ยินดีตอบคำถามและให้คำปรึกษาเรื่องเครื่องมือช่าง
โทรศัพท์: 0956549462 และ 0626463545
Facebook: Heabhok
Line: @heabhok (พิมพ์@ด้วยน้า)